แตงไทย (Thai Muskmelon) ทางภาคเหนือเรียก บะแต๋งลายหรือมะแตงสุก แตงไทยป็นพืชล้มลุก ลำต้นเป็นเถาเลื้อย มีขนอ่อน ปกคลุมตลอดทั้งลำต้นและใบ ใบเป็นใบเดี่ยวขนาดใหญ่ ขอบใบหยัก ก้านใบยาว ดอกสีเหลือง มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ ผลมีขนาดค่อนข้างใหญ่ รูปร่างกลมยาว ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางผล 12-15 ซม. ยาว 20-25 ซม. ผลอ่อนสีเขียวและมีลายสีขาวพาดยาว เมื่อผลแก่เปลือกเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ผิวเรียบเป็นมันเนื้อในผลสีเหลืองอ่อนอมเขียว กลิ่นหอม มีเมล็ดรูปแบนรี สีครีมจำนวนมาก
แตงไทยมีคาร์โบไฮเดรด แคลเซียม ฟอสฟอรัส วิตามินเอ และวิตามินซี เนื้อมีฤทธิ์เย็น ช่วยดับกระหาย แก้เลือดกำเดาไหล ดอกอ่อนตากแห้งต้มดื่มช่วยให้อาเจียน แก้โรคดีซ่าน หรือบดเป็นผงพ่นแก้แผลในจมูก เมล็ดแก่ช่วยในการขับปัสสาวะ ช่วยย่อยอาหาร แก้ไอ รากต้มดื่มช่วยระบายท้อง
พื้นที่ปลูกแตงไทยที่ จ.น่าน จะนิยมปลูกกันในฤดูฝน เพราะพื้นที่เป็นภูเขาจึงจัดการระบบน้ำลำบาก โดยจะปลูกปนไปกับข้าวไร่ อาศัยปุ๋ยจากการหว่านให้กับต้นข้าว ซึ่งบางครั้งการผลผลิตจากแตงไทยจะขายได้ราคาสูงกว่าขายข้าวด้วยซ้ำ
ผลอ่อนของแตงไทยนำมากินเป็นผักสดจิ้มน้ำพริกหรือนำไปดอง ผลสุกมีรสจืดหรืออมหวานเล็กน้อย เนื้อซุย ชุ่มน้ำ กลิ่นหอม นิยมกินสดหรือทำของหวาน เช่น น้ำกะทิแตงไทย และทำน้ำปั่น ทำเป็นผลไม้แห้งได้ บางพันธุ์ปลูกเพื่อนำเมล็ดไปสกัดน้ำมัน บางชนิดปลูกเพื่อต้องการนำกลิ่นหอมไปใช้ประโยชน์
การปลูกแตงไทยพร้อมกับปลูกข้าว มีข้อดีตรงที่ใบของแตงไทยจะแผ่คลุมพื้นดิน ช่วยให้ดินชุ่มชิ้นตลอด และเป็นการลดวัชพืชลงอีกวิธีหนึ่ง
แตงไทยจะมีอายุการเก็บเกี่ยวที่สั้นกว่าข้าวไร่ ซึ่งช่วงที่ข้าวใกล้จะเหลือง กลุ่มเกษตรกรจะเก็บแตงไทยออกมาขายก่อน เป็นการสร้างรายได้ในช่วงแรกของปี ก่อนที่พืชตัวหลักอย่างเช่นข้าวโพดและข้าวไร่จะถึงเวลาเก็บเกี่ยว
พื้นที่ทำเกษตรที่บ้านเกิดของผู้เขียนที่จังหวัดน่าน ซึ่งทำทั้งไร่ข้าวโพด ไร่ข้าว ยางพารา และปาล์มน้ำมัน
แตงไทยผลผลิตจากที่ไร่จากจังหวัดน่าน ตอนนี้ทางผู้เขียนกำลังทำตลาดให้กับผลิตจากไร่ตัวเองและไร่ของชาวบ้านในพื้นที่เดียวกันอยู่ หากใครสนใจสามารถติดต่อกันเข้ามาได้ครับ ถือว่าเป็นการช่วยเกษตรกรอีกช่องทางหนึ่ง