การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ ในระบบราง NFT สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญก็คือถังน้ำที่ใช้สำหรับใช้พักน้ำที่ผสมปุ๋ยเอบี ก่อนที่จะสูบขึ้นหัวรางปลูกผัก ถังน้ำควรมีขนาดที่พอเหมาะกับจำนวนผักที่อยู่บนโต๊ะ เพราะจะมีผลต่อความนิ่งของสภาพน้ำ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอุณหภูมิ (ความร้อน) ค่าความเป็นกรดด่าง (pH) ค่าความเข้มของปุ๋ย (EC) หลายคนอาจจะสงสัยว่าควรใช้ถังแบบไหน ขนาดเท่าไหร่ ในหัวข้อนี้จะขอพูดถึงว่าถังแต่ละแบบมีข้อดีข้อเสียต่างกันยังไง
สูตรการเลือกขนาดของถังน้ำที่ใช้กันทั่วไปก็คือ ผัก 1 ต้น/ ถังน้ำ 1 ลิตร อย่างเช่นโต๊ะปลูกผัก 6 เมตร วาง 8 ราง ปลูกผัก 240 ต้น ควรเลือกใช้ถังน้ำขนาด 200 ลิตรขึ้นไป เพราะในช่วงกลางวันที่แดดร้อนจัด อุณภูมิของน้ำจะสูงเกิน 30 องศา ซึ่งจะเสี่ยงต่อปัญหารากเน่า การที่มีน้ำในถังปริมาณมากพอจะสามารถคายความร้อนได้ก่อนที่จะสูบวนกลับขึ้นรางปลูก จะช่วยแก้ปัญหาความร้อนสะสมในระบบลงได้มาก
ถังใส่น้ำแบบพลาสติกทรงเหลี่ยม ส่วนมากโรงงานจะผลิตแบบมีพลาสติก 2 ชั้น มีความแข็งแรงพอสมควร ด้านข้างมีที่ระบายน้ำ ราคาที่ขายกันทั่วไป ถังขนาด 200 ลิตร ราคาประมาณ 1,400 – 1,500 บาท ซึ่งถือว่าแพงพอสมควร
ถังสารเคมี 200 ลิตร (มือสอง) ถังถูกออกแบบให้ใช้งานในแนวตั้ง ปัญหาอยู่ที่ขอบถังด้านบนสูงกว่าโต๊ะปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ การนำถังสารเคมีมาใช้งานจึงต้องขุดดินลงไป 50 ซม. ให้น้ำจากโต๊ะปลูกไหลกลับลงถังได้ แต่ฟาร์มผักที่เทปูนหรือไม่สามารถขุดดินได้ก็จะวางแนวนอนแล้วเจาะช่องด้านข้างแทน แต่ก็จะมีปัญหาเรื่องความแข็งแรงเวลาใส่น้ำ เมื่อใช้งานไปจะเจอปัญหาน้ำดันออกด้านข้างจนถังแตก ถังสารเคมี 200 ลิตร (มือสอง) ราคาโดยทั่วไปอยู่ที่ใบละ 500 บาท
กระบะผสมปูน สามารถนำมาใช้ใส่น้ำสำหรับปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ได้เหมือนกัน หาซื้อได้ตามร้านวัสดุก่อสร้างทั่วไป มีตั้งแต่ 135 – 200 ลิตร ราคาประมาณใบละ 500 บาท
วงบ่อคอนกรีต นำมาใช้ใส่น้ำสำหรับโต๊ะปลูกผักได้เหมือนกัน มีข้อดีคือช่วยให้น้ำคายความร้อนได้เร็วขึ้น วัสดุมีความแข็งแรง แต่มีข้อเสียคือน้ำหนักเยอะ เคลื่อนย้ายลำบาก มีปัญหาปูนร่อนเวลาโดนกรดไนตริกที่นำมาปรับค่า pH ของน้ำ
เรื่องความจุน้ำของถังเป็นเรื่องสำคัญเพราะในช่วงที่ผักโต อายุ 40 วันขึ้นไป ผักจะกินน้ำเยอะมาก ต้องเติมน้ำให้เต็มถังอยู่เสมอ หากน้ำในถังเหลือน้อยก็จะมีปัญหาน้ำในถังคายความร้อนไม่ทัน มีปัญหาน้ำร้อนลวกรากผักจนเกิดปัญหารากเน่าได้ การใช้ถังน้ำที่มีความจุเยอะจะมีข้อดีอีกอย่างนั้นคือ การเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติต่างๆ ของน้ำ จะช้ากว่าถังที่มีความจุน้ำน้อยๆ ไม่ว่าจะในเรื่องอุณหภูมิความร้อน ค่าความเป็นกรดด่าง (pH) ความเข้มข้นของปุ๋ย (EC) ดังนั้นยิ่งใช้ถังใบใหญ่ได้จะยิ่งดี แต่ถ้าใหญ่เกินไปก็จะมีราคาแพง ดังนั้นขนาดของถังสารละลายจึงควรพอดีกับจำนวนผักที่ปลูกและขนาดของโต๊ะปลูกด้วย