สายพันธุ์มะเขือเทศรับประทานสด

มะเขือเทศ (Tomato) เป็นพืชผักสำคัญทางเศรษฐกิจ มีการผลิตเพื่อบริโภคทั่วโลก มีคุณค่าทางอาหาร โดยพบสารสำคัญหลายชนิด ได้แก่ วิตามินซี เบต้า-แคโรทีน และ สารต่อต้านอนุมูลอิสระ เช่น ไลโคพีน (Lycopene) พบในมะเขือเทศผลสุก สารไลโคพีนมีฤทธิ์ยับยั้งการเกิดมะเร็งที่กระเพาะปัสสาวะช่วยลดการเกิดมะเร็งที่ระบบทางเดินอาหาร

ประเทศไทยผลิตมะเขือเทศเพื่อบริโภคผลสดใช้ในอุตสาหกรรมและผลิตเมล็ดพันธุ์ มูลค่าการส่งออกเมล็ดพันธุ์ผักทั้งหมด ในปี 2551 จำนวน 1,486 ล้านบาท เป็นเมล็ดพันธุ์มะเขือเทศ (2550) จำนวน 31 ตัน มูลค่า 272 ล้านบาท ประเทศไทยยังต้องนำเข้ามะเขือเทศเพื่ออุตสาหกรรมเป็นจำนวนมาก ทั้งในรูปมะเขือเทศสด ปรุงแต่งหรือน้ำมะเขือเทศกว่า 9,000 ตัน มูลค่ากว่า 222 ล้านบาท จึงกล่าวได้ว่าประเทศไทยมีความต้องการเมล็ดพันธุ์มะเขือเทศเพื่อ กำรผลิตสำหรับการบริโภคภายในประเทศ และเพื่อส่งออกในปริมาณที่สูงขึ้น

พันธุ์มะเขือเทศรับประทานสด

ตั้งแต่ พ.ศ. 2549 จนถึงปัจจุบัน สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สนับสนุน รศ.ดร. สุชีลำ เตชะวงศ์เสถียร จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดทำโครงการ การจัดการเชื้อพันธุกรรมและการพัฒนาพันธุ์มะเขือเทศ โดยรวบรวมเชื้อพันธุกรรมมะเขือเทศจากแหล่งเชื้อพันธุกรรมทั่วโลกจำนวน 717 สายพันธุ์ ประเมินลักษณะประจำพันธุ์และขยายเมล็ดพันธุ์แล้ว 500 สายพันธุ์

ด้านการปรับปรุงพันธุ์มะเขือเทศรับประทานผลสด สร้างประชากรพื้นฐานที่มีลักษณะการบริโภคผลสดที่ดีในกลุ่มมะเขือเทศผลเล็กและผลใหญ่ พัฒนามะเขือเทศสายพันธุ์แท้ 5 พันธุ์ และมะเขือเทศพันธุ์ลูกผสม 12 พันธุ์ ขึ้นทะเบียนรับรองพืชพันธุ์ใหม่จำนวน 3 พันธุ์ และเผยแพร่พันธุ์ให้แก่ภาครัฐและเอกชนนำไปใช้ประโยชน์แล้ว 38 สายพันธุ์

พันธุ์มะเขือเทศจากการปรับปรุง โดยโครงการ สวทช.

  • มข. 40 ทรงผลแบบลูกท้อ ขนาดผลปานกลาง เนื้อแน่น ต้านทานต่อโรคเหี่ยวเขียว ระดับปานกลาง ให้ผลผลิตสูง ทรงพุ่ม แบบกิ่งเลื้อย ทำให้เก็บเกี่ยวได้นาน
  • พวงทอง 80 ผลขนาดเล็ก 10-15 กรัม ผลผลิตต่อต้น 6-7 กิโลกรัม ผลสีเหลืองสม่ำเสมอ รสชาติดี เนื้อแน่น มีลักษณะทรงพุ่มแบบกึ่งเลื้อย
  • มรกตแดง 80 ลักษณะผลแบบกลมแดง ขนาดเล็ก เนื้อแน่นพอประมาณ ผลหนักประมาณ 10 กรัม ทรงพุ่มแบบกึ่งเลื้อย ผลผลิต 3 กิโลกรัมต่อต้น
  • มณีสยาม 80 ผลขนาดปานกลาง 60-80 กรัม ผลผลิตสูง ลำต้นแข็งแรง ผลสีแดง สม่ำเสมอ รสชาติดี มีลักษณะทรงพุ่ม แบบเลื้อย ต้านทานต่อโรคเหี่ยวเขียว ระดับปานกลาง
  • KKU-T340003 มะเขือเทศผลสีแดง 8-10 ผลต่อช่อ 2,500 กรัมต่อต้น เนื้อแน่น ความหวาน 8 บริกซ์ ไลโคพีนและเบต้าแคโรทีนสูง (171.20 และ 125 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ตามลำดับ)
  • KKU- T34060 ผลสีส้มแดง 4-6 ผลต่อช่อ ผลผลิต 3,050 กรัมต่อต้น เนื้อหนา สารสำคัญสูง (ไลโคพีนและเบต้าแคโรทีน 142.50 และ 143.5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม)
  • KKU-T34059 ผลสีส้มแดง 4-6 ผลต่อช่อ ต้นแข็งแรง ผลผลิต 3,379.5 กรัมต่อต้น เนื้อหนา เนื้อแน่น ความหวาน 5 บริกซ์ เบต้าแคโรทีน และวิตามินซีสูง (169.7 และ 91.58 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ตามลำดับ)
  • KKU-GT10113 การเจริญเติบโตแบบเลื้อย ลำต้นแข็งแรง การเรียงตัวของช่อดี 8-10 ผลต่อช่อ ผลสีน้ำตาลแดงถึงน้ำตาลเข้ม
  • KKU-GT10116 การเจริญแบบพุ่ม ลำต้นแข็งแรง ผลสีส้ม 8-10 ผลต่อช่อ เนื้อแน่น เนื้อหนา ผลผลิตสูง เก็บรักษาได้นาน ต้านทานโรคเหี่ยวระดับ ปานกลาง
  • KKU-GT10115 การเจริญเติบโตแบบเลื้อย ลำต้นแข็งแรง ผลกลม สีน้ำตาลดำ 8-10 ผลต่อช่อ รสชาติดี ต้านทานโรคเหี่ยวระดับปานกลาง

แหล่งข้อมูล: สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.)

Message us