การปลูกพืชโดยไม่ใช้ดิน (Soilless culture)

การปลูกพืชโดยไม่ใช้ดิน (Soilless Culture) เป็นเทคโนโลยีที่คิดค้นขึ้นมานานหลายสิบปีแล้ว เกิดขึ้นมาจากปัญหาของประเทศในเขตหนาวที่สภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยต่อการปลูกพืชในดินแบบปกติ จึงต้องเปลี่ยนมาเป็นการปลูกพืชในโรงเรียนโรงเรือนแทน ต่อมาก็เริ่มเจอปัญหาของดินที่ใช้สำหรับปลูกพืชในโรงเรือนมีการสะสมโรคและแมลงได้ง่าย เมื่อปลูกไปสักระยะดินก็เริ่มอัดตัวแน่นจนต้องมีการเปลี่ยนถ่ายดินอยู่เสมอ เกิดความยุ่งยาก จึงได้เริ่มมองหาทางเลือกอื่นๆ ในการปลูกพืช และได้ให้ความสนใจวิธีการปลูกพืชในน้ำ วงการวิจัยการปลูกพืชจึงได้เริ่มตื่นตัวมาทำการทดลองเกี่ยวกับการปลูกพืชโดยไม่ใช้ดินหรือปลูกพืชในน้ํากันมากยิ่งขึ้น จนในปี ค.ศ.1930 ดร.วิลเลี่ยม เอฟ เกอร์ริค (Dr. William F. Gericke) จากมหาวิทยาลัยแห่ง มลรัฐแคลิฟอร์เนีย เป็นคนแรกที่ได้ทําการสาธิตว่าสามารถปลูกพืชในน้ำสารละลายอาหารจนถึงขั้นได้ผลผลิตในเชิงการค้าได้เป็นผลสําเร็จ และยังเป็นผู้ตั้งชื่อวิธีการปลูกพืชแบบนี้ว่า “ไฮโดรโปนิกส์” (Hydroponics) โดยนําเอาคําจากภาษากรีก 2 คำ คือ “Hydro” ที่แปลว่าน้ำ และ “Ponos” ที่แปลว่างาน มารวมกันได้ความหมายว่า “การทํางานของน้ำ” กลายเป็นชื่อที่เรียกติดปากสําหรับการปลูกพืชในน้ำจนถึงทุกวันนี้

การปลูกพืชโดยไม่ใช้ดิน (Soilless culture)

โดยสําหรับในประเทศไทยนั้นการปลูกพืชโดยไม่ใช้ดินพึ่งเริ่มเป็นที่รู้จักกันเมื่อประมาณ 10 ปี ที่ผ่านมา และในปัจจุบันจะเห็นได้ว่าธุรกิจการปลูกพืชแบบไฮโดรโปนิกส์หรือการปลูกพืชโดยไม่ใช้ดินในประเทศไทยกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว สามารถพบเห็นผลิตภัณฑ์จากไฮโดรโปนิกส์ส่วนหนึ่งวางจำหน่ายอยู่ในห้างสรรพสินค้าทั่วไปในโซนขายผักปลอดสารพิษ และมีราคาที่สูงกว่าผักแบบทั่วไป

การปลูกพืชโดยไม่ใช้ดิน (Soilless culture)

ประเภทของการปลูกพืชโดยไม่ใช้ดิน

จากการที่มนุษย์ค้นพบว่าสามารถปลูกพืชให้เจริญเติบโตได้โดยไม่ต้องใช้ดิน เพียงแต่จัดการให้พืชได้รับ น้ำ ธาตุอาหาร ออกซิเจน และที่ยึดเกาะพยุงลำต้น จากภายนอกเพื่อทดแทนที่ไม่ได้รับจากดินนั้น ต่อมาจึงได้มีการพัฒนารูปแบบและวิธีการต่างๆในการที่จะให้น้ำ ธาตุอาหารแก่รากพืช ในการเพิ่มออกซิเจนให้แก่น้ำ และในการให้ที่ยึดเกาะแก่ต้นและรากพืช ทําให้เกิดเป็นวิธีการปลูกพืชโดยไม่ใช้ดินในรูปแบบต่างๆ ได้มากมาย หากจัดกลุ่มประเภทของการปลูกโดยไม่ใช้ดินโดยพิจารณาจากที่อยู่ของรากพืชแล้ว สามารถแบ่งประเภทของการปลูกพืชโดยไม่ใช้ดินออกได้เป็น 3 ประเภทหลัก คือ

  1. ประเภทการปลูกในน้ำ (Water culture) หมายถึงลักษณะของการปลูกพืชโดยไม่ใช้ดินที่รากพืชจะต้องสัมผัสหรือแช่อยู่ในน้ำสารละลายธาตุอาหาร (nutrient solution) โดยตรงและตลอดเวลา มีอยู่หลายเทคนิคได้แก่ เทคนิคน้ำไหลบาง (NFT), เทคนิคการปลูกพืชในน้ำลึกไหลล้น (DFT), เทคนิคการปลูกพืชในน้ําลึก (DRFT), เทคนิคการปลูกพืชในน้ำนิ่ง แบบต้องเติมอากาศ (DWT)
  2. ประเภทการปลูกในวัสดุปลูก (Substrate culture) เป็นวิธีการปลูกพืชโดยใช้วัสดุปลูกชนิดต่างๆ ทั้งที่เป็นอินทรีย์และอนินทรีย์ต่างๆ ได้แก่ ทราย กรวด ขี้เลื่อย ขุยมะพร้าว ร็อควูลล์ พีท ฯลฯ การปลูกพืชระบบนี้นิยมกันอย่างแพร่หลายวิธีหนึ่ง การปลูกพืชในวัสดุปลูกส่วนใหญ่จะแตกต่างกันทางด้านของเทคนิคการให้น้ำและสารละลายธาตุอาหาพืช (ความถี่และปริมาณสารละลายที่ให้แต่ละครั้งและองค์ประกอบของสารละลาย) ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของวัสดุปลูกที่ใช้ ซึ่งจะต้องมีการทดลองเพื่อหาวิธีการที่เหมาะสม
  3. ประเภทการปลูกในอากาศ (Aeroponics) เป็นระบบที่ทำให้รากพืชอิ่มตัวอย่างต่อเนื่องด้วยการพ่นสารละลายที่มีธาตุอาหารพืชเป็นระยะในรูปคล้ายๆ แปลงพ่นหมอก ระบบนี้รากพืชไม่ได้จุ่มอยู่ในน้ำ ซึ่งเป็นสารละลายธาตุ อาหารพืช แต่จะมีความชื้นอิ่มตัวอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้รากคงความชื้นสัมพัทธ์อยู่ในระดับ 95-100% โดยวิธีการนี้พืชได้อาหารครบถ้วนและพอเพียง ระบบนี้รากจะลอยอยู่ในอากาศในระบบปิดที่กันแสง แต่การปลูกด้วยระบบแอโรโพนิคส์ต้องใช้ระบบควบคุมการฉีดพ่นธาตุอาหารแบบอัตโนมัติ วิธีการนี้ใช้น้ำน้อยมาก การปลูกพืชในระบบแอโรโพนิคส์นี้ ความชื้นจากการฉีดพ่นสาร ละลายธาตุอาหารจะไปกระตุ้นให้รากพืชเจริญเติบโตอย่างสมบูรณ์ภายใน 10 วัน และต้นพืชโดยเฉพาะพืชผักสามารถเจริญเติบโตเก็บเกี่ยวได้ภายในระยะเวลาเพียง 30 วันเท่านั้น โดยรูปแบบการปลูกพืชให้รากลอยอยู่ในอากาศนี้ จะนิยมสำหรับพืชหัวที่ไม่สามารถแช่อยู่ในน้ำหรืออยู่ในดินที่จะเสี่ยงต่อโรคทางดิน เมื่อมีระยะการปลูกนานเกิน 2 เดือน

แหล่งข้อมูล – ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

Message us