ปลาน็อคน้ำ คืออะไร จะป้องกันและแก้ไขได้อย่างไร

ปลาน็อคน้ำ (Fish kill) คือการขาดออกซิเจนในน้ำอย่างรุนแรง จนทำให้ปลาตายได้คราวละมากๆ ในระยะเวลาสั้น ซึ่งความสูญเสียอาจจะสูงถึง 100% ภายในเวลา 24 ชั่วโมง อาจเกิดขึ้นได้ทั้งในปลานิลที่เลี้ยงในบ่อดินและกระชังในแหล่งน้ำธรรมชาติ ในบ่อเลี้ยงมักเกิดขึ้นในช่วงหลังฝนตกหรือฟ้าครึ้มติดต่อกันหลายๆ วัน ขณะที่ปลาที่เลี้ยงในกระชังมักเกิดขึ้นในช่วงที่มีน้ำหลากหรือสีน้ำขุ่นที่มีการเปื้อนของสารอินทรีย์ปริมาณสูงไหลเข้ามาในแหล่งเลี้ยง

การแก้ไขปัญหาปลาน็อคน้ำที่มีประสิทธิภาพที่สุด คือการติดตั้งเครื่องให้อากาศเพื่อรักษาระดับออกซิเจนละลายไม่ให้ต่ำกว่า 3 มิลลิกรัม/ลิตร นอกจากนี้ในบ่อดินควรใช้วัสดุปูนในกลุ่มปูนมาร์ลหรือโดโลไมท์ผสมน้ำแล้วสาดในบ่อในเวลากลางคืนเป็นระยะๆ เพื่อป้องกันไม่ให้แพลงก์ตอนพืชในบ่อตาย โดยเฉพาะช่วงฝนตกและฟ้าครึ้มติดต่อกัน

ปลาน็อคน้ำ (Fiss kill)

ขณะที่เกิดภาวะปลาน็อคน้ำแล้ว เกษตรกรควรเร่งติดตั้งเครื่องให้อากาศอย่างทันท่วงทีร่วมกับการเปลี่ยนถ่ายน้ำ โดยสูบน้ำชั้นล่างออกและเติมน้ำที่มีคุณภาพดีเข้าไป ในช่วงเวลานี้ควรงดการให้อาหารปลาเพื่อลดการหมักหมมของเศษอาหารและขี้ปลาที่เลี้ยงในบ่อ ซึ่งเป็นต้นเหตุของการเพิ่มปริมาณสารอินทรีย์ในบ่อจนกลายเป็นสารพิษที่ส่งผลกระทบต่อปลาที่เลี้ยงได้

วิธีการป้องกันปลาน็อคน้ำที่มีประสิทธิภาพที่สุด คือควรปล่อยปลานิลในปริมาณที่พอเหมาะไม่หนาแน่นจนเกินไป โดยทั่วไปบ่อขนาด 1 ไร่ ควรปล่อยปลาจำนวน 1,000-1,500 ตัว และควรให้อาหารในปริมาณที่พอเหมาะตามช่วงอายุของปลาเพื่อลดของเสียและสิ่งขับถ่ายสะสมในบ่อ

Message us